จังหวัดสมุทรปราการ (Samut Prakan Province)

ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ
สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว
ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม งามล้ำโพทะเล
สมุทรปราการหรือเมืองปากน้ำ และมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองพระประแดง มีพื้นที่ประมาณ 1,004 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 29 กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากอ่าวไทย ดังนั้นจึงเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มไม่มีภูเขา มีลำคลองหลายสาย ในฤดูแล้งน้ำจะเค็มจัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นาและสวน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบัน คือ อำเภอพระประแดง) เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกที่จะรุกเข้ากรุงเทพฯ จากทางอ่าวไทย มีการสร้างป้อมปราการหรือป้อมยุทธนาวีขึ้นภายในเมืองหลายป้อม ป้อมแรกคือป้อมวิทยาคม และทยอยสร้างต่อเนื่องมาอีก จำนวนรวมทั้งสิ้น 24 ป้อม จนกระทั่งในยุคล่าอาณานิคม มีกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าขึ้นที่ปากน้ำบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ในปัจจุบัน เป็นป้อมที่ทันสมัย มั่นคงแข็งแรง พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะจากเมืองขึ้นเป็นจังหวัด เมืองนครเขื่อนขันธ์จึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ก่อนจะถูกลดฐานะเป็นอำเภอพระประแดง อำเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แหล่งท่องเที่ยว:

วัดบางพลีใหญ่ใน – ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง ตำบลบางพลีใหญ่ เดิมชื่อวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยามาถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2112 และ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกอบกู้อิสรภาพสู่ความเป็นไทยอีกครั้งหนึ่ง จนอาณาเขตของประเทศ (สยาม) ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง ส่วนชื่อตำบลบางพลีก็เนื่องมาจากสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงตามตำรับพิชัยสงครามเมื่อชนะสงคราม วัดพลับพลาชัยชนะสงครามเป็นวัดที่อยู่ด้านใน และมีวัดบางพลีใหญ่กลางอยู่ด้านนอก ดังนั้นจึงเรียกวัดพลับพลาชัยชนะสงครามว่า วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) องค์พระเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร เป็นพระประธานในโบสถ์เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนโดยทั่วไป วัดนี้จึงมีอีกชื่อว่า วัดหลวงพ่อโต
ประวัติหลวงพ่อโต – ตามตำนานได้เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพระพุทธรูปสมัยล้านช้าง 3 องค์ ประกอบด้วย หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ปางอุ้มบาตร เป็นองค์พี่ หลวงพ่อโสธร ปางสมาธิ เป็นองค์กลาง และหลวงพ่อโต ปางสมาธิ เป็นองค์ใหญ่ที่สุดแต่เป็นองค์น้องสุดท้อง พระพุทธรูปทั้งสามได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการลอยน้ำมาจากทางเหนือ ล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงตำบลหนึ่งก็แสดงองค์ให้ประชาชนเห็น ประชาชนมีความศรัทธาจึงอาราธนาพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ ด้วยการพร้อมใจกันฉุด แต่ฉุดเท่าไรก็ไม่ขึ้นจนต้องเกณฑ์จำนวนคนมาช่วยกันฉุดถึงสามแสนคน พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ไม่ยอมขึ้นจากน้ำ ต่อมาตำบลนี้จึงได้ชื่อว่า ตำบลสามแสน แล้วกลายมาเป็นสามเสนในปัจจุบัน จนในที่สุด องค์พี่ คือ หลวงพ่อบ้านแหลมลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม องค์กลาง คือ หลวงพ่อโสธรกลับลอยทวนน้ำไปถึงวัดเสาทอน ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดนี้ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโสธรวรารามวรวิหาร ส่วนองค์สุดท้อง คือ หลวงพ่อโตได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา และปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนจึงพร้อมกันอาราธนาท่านขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ท่านก็ไม่ยอมขึ้น จึงได้ทำพิธีเสี่ยงทาย ต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใดก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด จนแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือวัดบางพลีใหญ่ใน ท่านจึงหยุดนิ่ง ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานนำท่านขึ้นจากน้ำได้ในที่สุด และต่อมาได้สร้างพระอุโบสถสำหรับเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตมาจนถึงปัจจุบัน
วัดบางพลีใหญ่ใน


ที่มา 
https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=2013

หลวงพ่อโต


หลวงพ่อโต วัดใหญ่บางพลี
ที่มา 
https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=2013

นอกจากนี้ติดกับวัดบางพลีใหญ่ในยังมีตลาดริมน้ำโบราณมีอายุยาวนานกว่า 140 ปี เป็นตลาดขายของและร้านอาหารริมน้ำที่มีมานาน ยังเป็นตลาดน้ำที่มีชีวิต โดยการดำเนินชีวิตจริงยังคงเหมือนเช่นอดีต คือมีความเกื้อหนุนจุนเจือกันแบบสังคมไทยยุคก่อนๆ มีประเพณีวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านที่ยังช่วยกันรักษา ในตลาดยังมีสินค้าดั่งเดิมขาย ได้แก่ กระต่ายขูดมะพร้าว ใต้จุดไฟที่ทำจากน้ำมันดินห่อด้วยเปลือกไม้ สำหรับเป็นเชื้อไฟในการจุดเตาถ่าน หรือสบู่กรดใช้สำหรับซักผ้าให้ขาว หมากพลู และของกินกับหมาก ที่คุณยาย คุณย่า ยังนั่งเคี้ยวหมากให้เห็นพร้อมกับขายของพวกนี้ไปด้วย หรือเดินผ่านร้านขายยาก็จะเห็นตู้ยาเต็มไปด้วยยาไทยล้วนๆ พวกยาธาตุ ยาขับลม ยาหม่อง ยาดม สารพัดอย่างวางเรียงรายอยู่เต็มตู้กระจก ทำให้รู้ว่ายาไทยที่ทำเป็นอุตสาหกรรมนั้นมีมานานแล้ว และมีมากมายหลายชนิดบางอย่างก็ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ – หรือช้างสามเศียร สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของคุณเล็ก วิริยะพันธ์ เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ไทย ช้างสามเศียรเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดยักษ์สูงเด่นเป็นสง่าด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากโลหะทองแดงแผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือนำมาเรียงต่อกันด้วยความประณีตนับแสนชิ้น ตัวช้างรวมอาคารมีความสูง 43.60 เมตร หรือมีความสูงเทียบเท่าตึก18 ชั้น อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนบนของตัวช้างออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุมีค่า ได้แก่ ภาพวาดสีฝุ่นรูปจักรวาล พระพุทธรูปปางลีลา บริเวณท้องช้างปูด้วยไม้มะเกลือสีออกดำ และส่วนล่างของตัวช้างเป็นฐานโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในอาคารทรงโดมตกแต่งด้วยงานศิลปะหลากหลายรูปแบบทั้งศิลปะตะวันตก และตะวันออก (ไทย) เช่น งานปูนปั้นเบญจรงค์ฝีมือช่างเมืองเพชรบุรี เพดานอาคารเป็นกระจกสีฝีมือศิลปินชาวเยอรมัน แสดงเรื่องราวแผนที่โลกโบราณล้อมรอบด้วยจักรราศี ส่วนชั้นใต้ดินที่เรียกว่า “ชั้นบาดาล” เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการและโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปสมัยต่างๆ และเครื่องลายครามของจีน ฯลฯ ช้างสามเศียรมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือ ที่ตัวผิวของช้างและเครื่องทรงของช้างทำด้วยแผ่น ทองแดงบริสุทธิ์ เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ ปี จะเกิดสนิมเขียวจับทำให้ผิวช้างมีลวดลายขึ้นมา และข้อสำคัญทองแดงเป็นวัสดุที่คงทนอยู่ได้นาน รอบๆ ตัวอาคารช้างสามเศียรจะเป็นอุทยานขนาดใหญ่ มีน้ำตก ลำคลอง และพรรณไม้ในวรรณคดี พันธุ์ไม้หายากจากทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานประติมากรรมลอยตัวเรื่องรามเกียรติ์วางเรียงรายล้อมรอบอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ และมีรูปจำลองของท่านช้างเอราวัณไว้ให้สักการบูชาเพื่อเป็นศิริมงคลของชีวิตอีกด้วย
เมืองโบราณ – เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเปรียบเสมือนเป็นบานประตูที่เผยออก ให้เห็นถึงมรดกแห่งภูมิปัญญาไทยบนพื้นที่ 800 ไร่ ในเขตตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ ลักษณะที่ดินมีผังบริเวณคล้ายรูปขวานเหมือนกับอาณาเขตของประเทศไทย โดยรวบรวมวัฒนธรรม โบราณสถาน ปูชนียสถาน วัดโบราณและพระราชวังต่างๆ ของทุกภูมิภาค ปลูกสร้างให้มีขนาดเล็กลงหรือบางแห่งมีขนาดเท่ากับของจริง การสร้างฝีมือประณีตผสมผสานกับงานวิจิตรศิลป์และประณีตศิลป์ การจัดวางโครงสร้างและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่สอดคล้องและสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่นับวันจะสูญหายไปจากสังคมยุคใหม่ ซึ่งผู้มาเยือนจะได้รับความรู้และเข้าใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะ และขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันได้จากเมืองโบราณแห่งนี้ภายในหนึ่งวัน
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท – ถือได้ว่าเป็นหัวใจของเมืองโบราณเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เคยทรงใช้พระที่นั่งแห่งนี้ รับรองสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 และพระสวามีในคราวที่เสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2515 และเมืองโบราณได้ถือเอาวันนี้เป็นวันเปิดเมืองโบราณอย่างเป็นทางการ
ฟาร์มจระเข้ – ตั้งอยู่ในเขตตำบลท้ายบ้าน ซึ่งห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ราว 400 ไร่ ภายในเป็นสถานที่เพาะพันธุ์จระเข้ทุกสายพันธุ์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งแรกของโลก ปัจจุบันมีจระเข้จำนวนเกือบถึง 80,000 ตัว มีขนาดความยาวตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งฟุต จนถึง 6 เมตร และในจำนวนนี้มีจระเข้พันธุ์ผสมระหว่างจระเข้น้ำจืดและน้ำเค็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า “เจ้าใหญ่” โดยได้การรับรองจาก กินเนสบุ๊ค ออฟ เรคคอร์ด ว่าเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดความยาวเกือบ 6 เมตร น้ำหนักตัว 1114.2 กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 35 ปี ภายในฟาร์มจระเข้ยังมีสวนสัตว์ที่ประกอบไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิดเกือบทั่วโลกให้ชมและศึกษาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสามารถถ่ายรูปกับสัตว์ต่างๆได้ มีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ให้ย้อนอดีตศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ และบรรยากาศในยุคดึกดำบรรพ์จากซากฟอสซิลและโครงกระดูก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ได้แก่ สนามยิงปืน จักยานน้ำ การแสดงดนตรี และที่พลาดไม่ได้คงต้องเป็นการแสดงจระเข้ที่ทั้งแสนจะตื่นเต้นตกใจ หวาดเสียว หลังจากหวาดเสียวกับการแสดงของจระเข้แล้วสามารถเดินผ่อนคลายเลือกซื้อของฝากของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบพร้อมทั้งมีใบรับรองคุณภาพที่เชื่อถือได้ หรือผู้ที่ชอบเปิบพิสดารก็มีบริการร้านอาหารเนื้อจระเข้ไว้ให้ลิ้มลองรสชาติ

ของฝากประจำจังหวัด:

ปลาสลิดบางบ่อ – ปลาสลิดแห้งของอำเภอบางบ่อ เป็นของดีมีชื่อของจังหวัดสมุทรปราการ ทำรายได้ให้แก่ชาวบางบ่อ เป็นจำนวนไม่น้อย เดิมชาวบ้านแถบอำเภอบางบ่อมีอาชีพทำนาข้าว ต่อมามีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นและรุกพื้นที่นา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงน้ำจืดที่ใช้ในการทำนาจึงกลายเป็นน้ำกร่อย ส่งผลให้ได้ผลผลิตข้าวไม่ดี ชาวบ้านจึงหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาสลิด ใช้น้ำกร่อยเลี้ยงปลา โดยน้ำกร่อยเป็นแหล่งไรแดงซึ่งเป็นอาหารชั้นยอดของปลาสลิด ดังนั้นปลาสลิดจึงมีความสมบูรณ์ เมื่อชาวบ้านนำมาแปรรูปโดยการหมักเกลือแล้วตากแดดจึงได้ปลาสลิดแห้งเนื้อนุ่มเหนียวอร่อย สามารถหาซื้อได้ตามแผงริม ถนนบางนา- ตราด ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ กม. 33 เรื่อยมาจนถึง กม. 27 นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายตามตลาดทั่วไป
ขนมจาก – เดิมเป็นของฝากขึ้นชื่อมีขายอยู่ทุกแห่งในปากน้ำ แม้เป็นเพียงขนมที่มีราคาเพียงบาท สองบาท โดยเฉพาะ “ขนมจาก” ของร้านลิ้มดำรงค์ที่ดำเนินการสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ที่ถนน? ศรีสมุทร เยื้องทางเข้าท่าเรือข้ามฟากไปพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงร้านเดียวในจังหวัด แต่ก่อนถึงกับมีคนพูดกันเล่นๆ ว่า “มาปากน้ำถ้าไม่ได้ซื้อขนมจาก ถือว่ายังมาไม่ถึง” จากประโยคข้างต้นกลับสามารถพิสูจน์ความโด่งดังของขนมจาก เมืองปากน้ำได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป พร้อม ๆ กับความเจริญทำให้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางสัญจร มีการตัดถนนขึ้นใหม่เพื่อขจัดปัญหาจราจรแออัด ซึ่งส่งผลให้อาชีพที่ขึ้นชื่อของเมืองนี้ คือร้านค้าขนมจาก พลอยมีผลกระทบตามไปด้วย อีกสาเหตุหนึ่ง คือร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวเองลงเนื่องมาจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้นำสูตรขนมจากที่เลื่องลือชื่อนี้ไปดัดแปลง และทำเป็นรูปแบบขนมของฝากนักท่องเที่ยวในสถานที่นั้นๆ ดังนั้นขนมจากเมืองปากน้ำจึงไม่ใช่ของฝากที่หาซื้อได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว
จาก https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=2013

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Home Page